ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และมีตาสีแดง โหนกมีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้าย ตัวเมียตาสีซีดหรือสีขาว และไม่มีสีดำที่โหนก จากกลางโหนกของนกกกลงมามีสีเหลืองอ่อนปนสีส้ม สีนี้เกิดจากต่อมน้ำมันที่ก้น ร้องเสียงดัง "กก กก" หรือ "กาฮัง กาฮัง"
พบในประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล ไทย และเวียดนาม มักพบบริเวณป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ จนถึงความสูง 1,600 – 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในฤดูผสมพันธุ์ พวกมันส่วนใหญ่จะอยู่ประจำการในพื้นที่เล็กๆ แต่อยู่ใน ฤดูไม่ผสมพันธุ์ มีกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง
นกกกกินผลไม้ต่าง ๆ กลุ่มพืชสกุลโพ - ไทร - มะเดื่อ ผลของพืชในวงศ์กระดังงา วงศ์อบเชย วงศ์กระท้อน วงศ์จันทน์เทศ รวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกตัวเล็กด้วย
อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ มักอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ เวลาบินเสียงกระพือปีกจะมีเสียงดัง
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 2. เป็นนกที่อยู่ในสถานภาพ ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened: NT) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นนกที่อยู่ในสถานภาพ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ International Union for Conservation of Nature (IUCN) หรือ IUCN Red List (2020) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่า ในบัญชีหมายเลข 1 ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)
CLASS : Aves
ORDER : Bucerotiformes
FAMILY : Bucerotidae
GENUS : Buceros
SPECIES : Great Hornbill (Buceros bicornis)
นกกกผสมพันธุ์ในหน้าหนาวจนถึงหน้าร้อน วางไข่ตามโพรงไม้สูง วางไข่ครั้งละ 1 – 2 ฟอง ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเข้าไปในโพรงแล้วปิดปากโพรง ตัวผู้คาบดินผสมกับมูลของตัวเมียโบกปิดปากโพรง หรืออาจใช้อาหารที่กินเข้าไปแล้วสำรอกออกมาเพื่อปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางพอให้ตัวเมียยื่นปากออกมาได้ ขณะที่ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่นี้ ตัวผู้จะหาอาหารให้
เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำพวกนกเงือกของไทย โดยมีขนาดลำตัวประมาณ 122 เซนติเมตร
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560