“รู้หรือไม่” ค่างแว่นถิ่นใต้ มี 7 ชนิดย่อย คือ 1. Trachypithecus obscurus obscurus พบในคาบสมุทรมลายู เหนือสุดถึงรัฐปะลิส มาเลเซีย 2. Trachypithecus obscurus flavicauda พบทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่รัฐปะลิส มาเลเซีย ขึ้นไป ถึงทางตอนใต้ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรไทย 3. Trachypithecus obscurus halonifer พบที่เกาะปีนัง มาเลเซีย 4. Trachypithecus obscurus carbo พบที่ชายฝั่งตะวันตก เกาะดายังบันติง เกาะลังกาวี ของมาเลเซีย และเกาะตะรุเตาของราชอาณาจักรไทย 5. Trachypithecus obscurus styx พบที่เกาะเปอร์เฮนเทียนตะวันออกและอาจรวมถึงเกาะข้างเคียงของมาเลเซีย 6. Trachypithecus obscurus seimundi พบที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอาจรวมถึงเกาะข้างเคียงของราชอาณาจักรไทย 7. Trachypithecus obscurus sanctorum พบที่เกาะเศเดตกี้ (Zadetkyi) ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่เรียกชื่อ “ค่างแว่น” เพราะมีวงกลมสีขาวรอบตาเหมือนกับใส่แว่น “ค่าง” เป็นคำภาษาฮินดีที่แปลว่า “ตัวที่มีหางยาว” เป็นค่างที่เป็นถิ่นกำเนิดในมาเลเซีย, ภาคใต้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, และตะวันตกเฉียงใต้ของราชอาณาจักรไทย ค่างแว่นถิ่นใต้มีขนสีเทา ดำ น้ำตาล รอบดวงตาเป็นวงกลมที่มีขนสีขาว และปาก ใบหน้าเป็นสีเทา ขาหลัง และหางจะมีสีซีดกว่า ตีนหน้าและตีนหลังเป็นสีดำ ไม่มีขน นิ้วโป้งตั้งฉากกับนิ้วอื่น ทำให้หยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้ดี กระเพาะของค่างคล้ายกับกระเพาะของแอนทีโลปที่มี 3 ห้อง เพื่อช่วยย่อยเซลลูโลส มีระบบทางเดินอาหารคล้ายกับสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีแผ่นหนังรองนั่งที่ก้น
พบในทวีปเอเชีย ในมาเลเซีย, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และราชอาณาจักรไทย มีอาณาเขต (Territories) ประมาณ 31.25–75 ไร่ บริเวณป่าดิบเขา เขาหินปูน
เป็นสัตว์ที่กินพืช เช่น ใบอ่อน ผลไม้ หน่ออ่อน เมล็ด ฝักเมล็ด เปลือกไม้ และต้นกล้า ประมาณ 87 ชนิด ใน 1 วัน กินอาหาร ประมาณ 2 กิโลกรัม (ประมาณ 1 ใน 4 ของน้ำหนักตัว)
เป็นสัตว์สังคม มีลำดับชั้นทางสังคม มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ประมาณ 5–20 ตัว หากินในเวลากลางวัน มักอยู่บนเรือนยอดที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 35 เมตร ใช้เวลาในการกิน ประมาณ 40 % การพักผ่อน ประมาณ 24 % เคลื่อนไหว ประมาณ 22.5 % ดูแลขนให้ตัวอื่น ประมาณ 6.52 %
1. เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 2.เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) จากการประเมินสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2023) 3. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2020) 4. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 2 ที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องมีหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ในธรรมชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2024)
CLASS : Mammalia
ORDER : Primates
FAMILY : Cercopithecidae
GENUS : Trachypithecus
SPECIES : Trachypithecus obscurus
อายุขัย ประมาณ 25 ปี
เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ ประมาณ 3–4ปี ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ออกลูก ประมาณ เดือนมกราคม–มีนาคม ตั้งท้อง ประมาณ 5 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในทุก ๆ 2 ปี แรกเกิดจะมีขนสีเหลือง หรือ สีส้ม มีหน้าสีชมพู เมื่ออายุ ประมาณ 6 เดือน ขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทา
ความยาวลำตัว ประมาณ 42–70 เซนติเมตร หางยาว ประมาณ 50–85 เซนติเมตร ตัวผู้ ความยาวลำตัว ประมาณ 67 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 7.4–8.3 กิโลกรัม ตัวเมีย ความยาวลำตัว ประมาณ 59.74 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 6.5 กิโลกรัม
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 06 เมษายน 2560