ฮิปโปโปเตมัสแคระ/Pygmy Hippopotamus (Choeropsis liberiensis)

สิ่งที่น่าสนใจ :

“รู้หรือไม่” ฮิปโปโปเตมัสแคระเป็นญาติสนิทกับปลาวาฬ ฮิปโปโปเตมัสเป็นภาษากรีกที่แปลว่า “ม้าแม่น้ำ” ฮิปโปโปเตมัสแคระจะอยู่บนบกมากกว่าในน้ำ ฮิปโปโปเตมัสแคระเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีรูปร่างกลม หัวเล็กเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว หัวมีรูปทรงตอร์ปิโด คอยาว และแคบ ตาอยู่ด้านข้างของหัว จมูก และหูปิดได้เมื่ออยู่ใต้น้ำ ลำตัวของฮิปโปโปเตมัสแคระไม่มีขน แต่จะมีขนคล้ายกับขนแปรงแข็งบริเวณปากประมาณ 35 เส้น หูมีขน ประมาณ 6–9 เส้น หางมีขน ประมาณ 10–18 เส้น ผิวด้านบนลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และบาง หนา ประมาณ 1 เซนติเมตร บริเวณท้องและลำคอเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่อโดนแดดจะผลิตสารคัดหลั่งสีน้ำตาลแดงมันวาวซึ่งเรียกว่า “เหงื่อเลือด” เป็นส่วนผสมของกรดฮิปโปซูโดริกและกรดนอร์ฮิปโปซูโดริก มีประโยชน์เพื่อป้องกันอันตรายจากแสงแดด และป้องกันการติดเชื้อ โดยสารคัดหลั่งทางผิวหนังของฮิปโปโปเตมัสแคระ ตัวเมียมีค่า pH อยู่ที่ 9.5 ตีนของฮิปโปโปเตมัสแคระมีนิ้วข้างละ 4 นิ้ว และมีพังผืดน้อย ฮิปโปโปเตมัสแคระถูกเรียกว่า “สัตว์เคี้ยวเอื้องเทียม” เนื่องจากมีกระเพาะ 4 ห้อง ซึ่ง มีความคล้ายคลึงกับกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ประสาทการมองเห็นของฮิปโปโปเตมัสแคระไม่ดี แต่ประสาทการดมกลิ่นนั้นดีเยี่ยม

ถิ่นอาศัย :

พบในทวีปแอฟริกา ในสาธารณรัฐโกตดิวัวร์, สาธารณรัฐกินี, สาธารณรัฐไลบีเรีย, และสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ราบต่ำราบลุ่ม ใกล้กับแม่น้ำ ลำธารเล็ก ๆ ที่มีต้นไม้จมอยู่ใต้น้ำ โพรงราก แอ่งน้ำมีความหนาแน่นของพืชพรรณบนพื้นดิน ในบางพื้นที่ที่มีต้นปาล์มแรฟเฟีย (Raffia palm) ฮิปโปโปเตมัสแคระมักเดินตามเส้นทางคล้ายอุโมงค์ผ่านพืชพรรณในป่าทึบ ตัวผู้มีอาณาเขต (Territories) ประมาณ 1,000–1,100 ไร่ โดยอาณาเขตของตัวเมียซ้อนทับกันได้ รวมทั้งอาณาเขตของตัวเมียหลายตัวอาจทับซ้อนกันในอาณาเขต ของตัวผู้ โดยใช้มูลในการประกาศอาณาเขต

อาหาร :

เป็นสัตว์กินพืช (พืชใบกว้าง หญ้า พืชริมน้ำ ไม้ล้มลุก ราก เฟิร์น ไม้ล้มลุกกลุ่มมะลิดิน (Geophila sp.) และผลไม้ใกล้แม่น้ำและลำธาร ตามพื้นป่าหรือในหนองน้ำ) และสามารถยืนด้วยขาหลังเพื่อเอื้อมหาอาหารบนต้นไม้ได้

พฤติกรรม :

ฮิปโปโปเตมัสแคระจะอยู่ลำพังเพียงตัวเดียว ยกเว้นเมื่อตัวเมียอยู่กับลูกหรืออยู่รวมกันช่วงสั้น ๆ เมื่อผสมพันธุ์ ฮิปโปโปเตมัสแคระเป็นสัตว์ที่ขี้อาย มักหนีมากกว่าต่อสู้ ฮิปโปโปเตมัสแคระออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะออกหากินมากที่สุดตั้งแต่เวลา ประมาณ 16.00–23.00 น. เวลากลางวันจะอยู่ในน้ำหรือพักผ่อนอยู่บนบก ฮิปโปโปเตมัสแคระใช้โพรงที่ถูกกัดเซาะริมฝั่งแม่น้ำเป็นที่ซ่อนตัว ความยาวของโพรงอาจยาวได้ถึง 9 เมตร อาจมีทางเข้ามากกว่าหนึ่งทาง โดยจะดำน้ำเข้าไป เชื่อว่าใช้เป็นที่เลี้ยงดูลูกอ่อนด้วย และจะเปลี่ยนสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้ง

สถานภาพปัจจุบัน :

1. เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) จากการประเมินสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือ IUCN Red List (2015) 2. เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าในบัญชีหมายเลข 2 ที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องมีหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ในธรรมชาติ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) (2024)

อนุกรมวิธาน

CLASS : Mammalia

ORDER : Artiodactyla

FAMILY : Hippopotamidae

GENUS : Choeropsis

SPECIES : Choeropsis liberiensis

อายุเฉลี่ย :

อายุขัย ประมาณ 27 ปี

วัยเจริญพันธุ์ :

ไม่ทราบฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ประมาณ 7–9 เดือน ตัวเมียเป็นสัด 1–2 วัน วงรอบการเป็นสัดเฉลี่ย 35.5 วัน ระยะเวลาตั้งท้องใช้เวลาเพียง 6.5–7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกมีน้ำหนัก ประมาณ 3.4–6.4 กิโลกรัม หย่านม 6–8 เดือน ระหว่างวันแม่จะออกไปหาอาหารและจะให้นมวันละ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 3 เดือนจะเริ่มกินอาหารอื่น (พืช) ได้นอกเหนือจากนม ออกลูกทั้งบนบกและในน้ำ ลูกเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อายุ ประมาณ 3–5 ปี

ขนาดและน้ำหนัก :

ความยาวลำตัว ประมาณ 150–175 เซนติเมตร และหางยาว ประมาณ 20 เซนติเมตร ความสูงระดับไหล่ ประมาณ 70–100 เซนติเมตร น้ำหนัก ประมาณ 160–275 กิโลกรัม

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560